เมื่อวันที่ 5-7 ก.ค. 2567 ทีมนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ และ ผศ.ดร.ชนิตา ดวงยิหวา ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และ อาจารย์ ดร.ทวีวัฒน์ สมบูรณ์ปัญญากุล ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยผู้ช่วยวิจัยและนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน และโครงการปิดทองหลังพระพื้นที่จังหวัดน่าน เข้าร่วมประชุมกับผู้นำชุมชนตำบลยอด
โดยมีนายอำเภอสองแคว เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายกเทศมนตรีตำบลยอด กำนันตำบลยอด ผู้ใหญ่บ้าน ประธานสภาวัฒนธรรม พัฒนาการอำเภอ ประธานชมรมมัคคุเทศก์ น่าน และประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลยอด ในหัวข้อ “การจัดกิจกรรมต้นแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์: ดาราศาสตร์สร้างสรรค์และสำรวจป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวอาบป่า”
ภายใต้โครงการ การสร้างคุณค่าร่วมกันเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์พื้นที่ยอด-ภูลังกา ซึ่งได้รับการสนับสนุนโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยด้วยงานวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงคุณค่าให้กับจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในตำบลยอดและตำบลผาช้างน้อยให้เป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูง
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้รับความร่วมมือจากภาคีผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้แทนจากชมรมมัคคุเทศก์ และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวนำเที่ยว ชุมชน ครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านผาหลัก อ.สองแคว จ.น่าน รวมทั้งสิ้น 80 คน เข้าร่วมทดสอบกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ประกอบด้วย
1) ดาราศาสตร์สร้างสรรค์ (พี่ ๆ นิสิต จากภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาฯ และนักเรียนบ้านผาหลักได้ร่วมกันตกแต่งพื้นที่รอบบ่อน้ำแร่ให้เป็นท้องฟ้าจำลองเพื่อการเรียนรู้เรื่องดวงดาว และการดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์)
2) กิจกรรมร่วมรับประทานอาหารจากเชฟชุมชน ที่นำเสนออาหารคาว-หวานที่เป็นเมนูสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน
และ 3) การสำรวจเส้นทางเดินป่าชุมชน (การรู้จักพันธุ์ไม้ การทำแผนที่ข้อมูลต้นไม้ และออกแบบเป็นเส้นทางท่องเที่ยวการเดินป่าศึกษาธรรมชาติให้กับชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน ให้ความรู้เรื่องพฤกษศาสตร์เบื้องต้น ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว)
ผลการจัดกิจกรรม พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งในฐานะเจ้าของพื้นที่และผู้ที่เข้าร่วมทดสอบกิจกรรม ชื่นชอบในกิจกรรมทั้งสามรูปแบบ โดยเฉพาะการดูดาว ที่ทั้งสนุกและได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของดวงดาวต่าง ๆ บนท้องฟ้า ซึ่งในวันที่ 6 ก.ค. ท้องฟ้าแจ่มใสทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นกลุ่มดาวมากมายและทางช้างเผือก ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การขอสมัครชุมชนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (sky dark)
อีกทั้งผู้เข้าร่วมยังชื่นชอบอาหารจากเชฟชุมชน ถึงแม้จะเป็นเมนูพื้นเมือง แต่ชุมชนและนักเรียนในพื้นที่ก็ไม่ได้รับประทานบ่อย เพราะการเตรียมวัตถุดิบและวิธีการค่อนข้างซับซ้อน ทั้งยังช่วยเปิดมุมมองให้กับผู้นำชุมชนในการจัดพื้นที่เป็นลานกิจกรรมร่วมรับประทานอาหารท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และสร้างความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังชื่นชอบกิจกรรมเดินป่าที่ได้ความรู้และทำให้รู้จักทรัพยากรอันมีค่าของป่าชุมชนมากมาย
#ทีมนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน #อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน #โครงการปิดทองหลังพระพื้นที่จังหวัดน่าน #ผู้นำชุมชนตำบลยอด