ข่าวประชาสัมพันธ์ บริษัทไฟฟ้าหงสา จำกัด ฉบับวันที่ 16 กันยายน 2566

ไฟฟ้าหงสา จัดพิธีมอบทุนการศึกษา โครงการ New Graduate Internship Program (NGIP) ประจำปี 2023

บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด มีพันธะสัญญาส่วนหนึ่งที่จะต้องปฎิบัติตามสัญญาสัมปทาน ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมรอบข้าง จึงได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเยาวชน อันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองและประเทศชาติในอนาคต บริษัทฯ จึงให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีในระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับปริญญาตรี มาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน ได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา มาแล้วกว่า 400 ทุน

และในระดับปริญญาตรี อีกกว่า 70 ทุน อีกทั้ง ยังเปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ภายใน สปป.ลาว ได้เข้ามาฝึกงานที่บริษัทฯ เพื่อเสริมสร้างความรู้ และประสบการณ์จากการทำงานจริงอีกด้วย ในวันที่ 6 กันยายน 2566 แผนกทรัพยากรมนุษย์ ฝ่าย Corporate Services (CS) บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด จัดพิธีมอบทุนการศึกษา “โครงการ New Graduate Internship Program (NGIP) ประจำปี 2023” ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (มซ.) นครหลวงเวียงจันทน์ โดยการเป็นประธานของ ท่าน รศ. โพสี ทิบดาวัน รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และ นายคทายุทธ์ ชูพูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด มีตัวแทน คณบดี อาจารย์ น้องๆ นักเรียนทุน และ ผู้ปกครอง เข้าร่วมแสดงความยินดี และเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ สำหรับทุนการศึกษา “โครงการ New Graduate Internship Program (NGIP)” นี้ เป็นการมอบทุนการศึกษาให้กับน้องๆ นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (มซ.) ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปริญญาตรี ปีที่ 4 โดยในปี 2023 นี้

บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ได้ทำการมอบทุนการศึกษาให้กับน้องๆ นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิชาต่างๆ จำนวน 5 ทุน คือ สาขาสื่อสารมวลชน จำนวน 1 ทุน, สาขากฎหมายธุรกิจ จำนวน 1 ทุน, สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จำนวน 1 ทุน, สาขาวิศวกรรมกลจักร จำนวน 1 ทุน และ สาขาวิศวกรรมโยธา จำนวน 1 ทุนและเมื่อน้องๆ นักศึกษา สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว ทางบริษัทฯ จะมอบสัญญาการเป็นพนักงานของบริษัทฯ ให้กับน้องๆ นักศึกษา เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อร่วมเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของน้องๆ นักศึกษาทุน ให้สามารถนำความรู้จากสาขาวิชาที่จบหลักสูตรการศึกษามาประยุกต์ ปรับใช้ในการทำงาน ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน และ ประเทศชาติ ต่อไป

🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️

ข่าวที่ 2
ไฟฟ้าหงสา มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 3 แขวงภาคใต้ ของ สปป. ลาว เป็นเงินจำนวน 80,000,000 กีบ

ในวันที่ 6 กันยายน 2566 นายคทายุทธ์ ชูพูล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด พร้อมคณะ เข้าพบคณะกรรมการคุ้มครองภัยพิบัติขั้นศูนย์กลาง ศูนย์ปฏิบัติงานเหตุการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Operation Centre) ณ กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 3 แขวงภาคใต้ ของ สปป. ลาว (แขวงคำม่วน, แขวงสะหวันนะเขต และ แขวงบอลิคำไซ) เป็นเงินจำนวน 80,000,000 กีบ (แปดสิบล้านกีบ ประมาณ 150,000 บาท)

โดยโอกาสสำคัญนี้ ได้รับเกียรติจาก ท่านนาง ใบคำ ขะทิยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม, รองประธานผู้ประจำการคณะกรรมการคุ้มครองภัยพิบัติขั้นศูนย์กลาง, ท่าน วงคำ พันทะนุวง หัวหน้ากรมสังคมสงเคราะห์, หัวหน้ากองเลขาฯ และ ท่าน บุนจอด จันทะวอน หัวหน้าห้องการ กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม เข้าร่วมเป็นตัวแทนจากคณะกรรมการคุ้มครองภัยพิบัติขั้นศูนย์กลาง ศูนย์ปฏิบัติงานเหตุการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Operation Centre) รับมอบเงินช่วยเหลือจากไฟฟ้าหงสาในครั้งนี้

🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️

ข่าวที่ 3
ไฟฟ้าหงสา เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์อะโวคาโด เพื่อผลิตในเชิงพาณชย์ ณ ชุมชนบ้านห้วยหาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566
บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด นำโดย นายสรรเพชญ์ ปุละ หัวหน้าสำนักงานน่าน พร้อมด้วยฝ่ายสื่อสารองค์กรสำนักงานน่าน เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรม “การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์อะโวคาโด เพื่อผลิตในเชิงพาณชย์” ณ ชุมชนบ้านห้วยหาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 9 กันยายน 2566 โดยมี นางนัยนา ทีฆาวงค์ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยหาด เป็นผู้กล่าวเปิดการฝึกอบรม ทั้งนี้

ได้รับเกียรติจาก นางสาวกิตยาการ อิศรางกูร ณ อยุธยา หัวหน้าโครงการลัชชากรณ์ ธรรมธีรเสถียร สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่อง การสาธิตและฝึกปฏิบัติการทำอะโวคาโดผง และข้าวเกรียบอะโวคาโด และ ดร.ปัณรสี สู่ศิริรัตน์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ องค์การบริหารส่วนตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่อง ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามจากอะโวคาโด

ให้กับผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม คือ กลุ่มเกษตรกรบ้านห้วยหาด และบ้านหลักลาย ซึ่งทั้ง 2 ชุมชนนี้ มีวัตถุดิบในพื้นที่ คือ ผลอะโวคาโด ที่ปลูกในพื้นที่ ที่สามารถพัฒนานำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากอะโวคาโด เพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นการสร้างรายได้ให้กับทั้ง 2 ชุมชน รวมถึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ขยายวงไปสู่การท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้อีกทางหนึ่งด้วย

🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️
ข่าวที่ 4
ไฟฟ้าหงสา ร่วมพิธีเปิดงานประเพณีแข่งเรืออำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน “แข่งเรือปลอดเหล้า เข้าหาพระธรรม” ประจำปี 2566

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566
บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด นำโดย นายสรรเพชญ์ ปุละ หัวหน้าสำนักงานน่าน พร้อมด้วยฝ่ายสื่อสารองค์กรสำนักงานน่าน เข้าร่วมพิธีเปิดงานประเพณีแข่งเรืออำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน “แข่งเรือปลอดเหล้า เข้าหาพระธรรม” ประจำปี 2566 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ วันที่ 9 – 10 กันยายน 2566 ณ บริเวณแม่น้ำน่าน เชิงสะพานท่าวังผาพัฒนา (ท่าค้ำ) ตำบลริม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โดยงานประเพณีแข่งเรืออำเภอท่าวังผา ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดย อำเภอท่าวังผา ร่วมกับชมรมเรือแข่งอำเภอท่าวังผา สมาคมเรือแข่งจังหวัดน่าน สภาวัฒนธรรมอำเภอท่าวังผา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ได้รับเกียรติจาก นายนพรัตน์ ถาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน โดยมี นายสง่า อินยา ประธานคณะกรรมการชมรมเรือแข่งอำเภอท่าวังผา เป็นผู้กล่าวรายงาน มีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาคเอกชน ผู้นำชุมชนในจังหวัดน่าน พี่น้องชาวเรือและประชาชนทั่วไปมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง งานประเพณีแข่งเรืออำเภอท่าวังผา ได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1)เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริม สืบสาน รักษาและต่อยอด ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ที่บรรพบุรุษ ได้ทำไว้เป็นแบบอย่าง ที่งดงามให้คงอยู่สืบไป 2)เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน ให้ทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงาม

3)เพื่อเป็นการเสริมสร้าง ความปรองดอง ความรัก ความสมานสามัคดี ของประชาชน แต่ละหมู่บ้าน ชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง ในด้านคุณธรรมและจริยธรรมมากยิ่งขึ้น 4)เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ของอำเภอท่าวังผา และจังหวัดน่าน ให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป อย่างกว้างขวาง 5)เพื่อให้เยาวชน มีโอกาสแสดงพลัง สร้างสรรค์ ในด้านการกีฬาและการพากย์เรือ หลีกเลี่ยง ห่างไกล ยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย โดยในปีนี้ มีเรือที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทเรือเล็ก ฝีพาย 25-30 คน เป็นเรือน่าน คนน่าน จำนวน 5 ลำ 2.ประเภทเรือเล็กเอกลักษณ์น่านเหนือ ฝีพาย 25-30 คน เป็นเรือน่านเหนือ และคนน่านเหนือใส่เสื้อม่อฮ่อม จำนวน 9 ลำ 3.ประเภทเรือกลางเอกลักษณ์น่าน ฝีพาย 35-40 คน เป็นเรือน่าน และคนน่าน ใส่เสื้อม่อฮ่อม จำนวน 14 ลำ 4.ประเภทเรือใหญ่ 55 ฝีพาย เป็นเรือที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของอำเภอท่าวังผา จำนวน 2 ลำ คือ เรือ 1แดนสยาม บ้านวังว้า และเรือสาววารี บ้านดอนตัน รวมมีเรือเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด จำนวน 30 ลำ สำหรับงานประเพณีแข่งเรืออำเภอท่าวังผา “แข่งเรือปลอดเหล้า เข้าหาพระธรรม” ประจำปี 2566 บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานครั้งนี้ เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท

🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️

ข่าวที่ 5
ไฟฟ้าหงสา เข้าร่วมการเสวนาเชิงวิชาการ “รัฐประศาสนศาสตร์กับการขับเคลื่อนจังหวัดน่านสู่เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก” ณ ห้องประชุม ALl Era Cafe ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566
บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด นำโดย นายสรรเพชญ์ ปุละ หัวหน้าสำนักงานน่าน พร้อมด้วยฝ่ายสื่อสารองค์กรสำนักงานน่าน เข้าร่วมการเสวนาเชิงวิชาการ “รัฐประศาสนศาสตร์กับการขับเคลื่อนจังหวัดน่านสู่เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก” จัดขึ้น ณ ห้องประชุม ALl Era Cafe ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ได้รับเกียรติจาก นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา โดยมี นายแพทย์ชาตรี เจริญศิริ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนน่าน เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการการเรียนการสอนในรายวิชาการสัมมนาทางรัฐประศาสนศาสตร์

หลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และรายวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หลักสูตรประกาศนียบัตร สาขาหัตถกรรมจักสานสร้างสรรค์ วิทยาลัยชุมชนน่าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนจังหวัดน่านสู่การเป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก 2)เตรียมความพร้อมจังหวัดน่านในการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ในครั้งต่อไป 3)นำเสนอผลงานหัตถกรรมจักสานของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตร สาขางานหัตถกรรมจักสานสร้างสรรค์ วิทยาลัยชุมชนน่าน โดยจัดเสวนาทั้งแบบ Onsite และ Online โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมสัมมนา คือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนจังหวัดน่านสู่เมืองสร้างสรรค์ ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ตลอดจนนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนน่าน รวมทั้งสิ้น 150 คน

ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ในประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความสำเร็จของการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ประกอบด้วย 1.จังหวัดภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ปี 2558 โดย ผศ.ดร.ตติยาพร จารุมณีรัตน์ หัวหน้าสาขาการจัดการการบริการ คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต 2.จังหวัดเชียงใหม่ เมืองสร้างสรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ปี 2560 โดย ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ นักวิจัยชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.จังหวัดสุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ปี 2562 และ จังหวัดเพชรบุรี เมืองสร้างสรค์ด้านอาหาร ปี 2564 โดย ดร.พิชชากานต์ ช่วงชัย อาจารย์ประจำหลักสูตร การจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ คือแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดน่าน ในการพัฒนาให้สามารถเข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ตลอดจนเป็นการช่วยจังหวัดน่าน ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรค์ยูเนสโก ได้สำเร็จในอนาคตต่อไปได้