กรมทางหลวง จัดสัมมนาสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ พร้อมฟังความคิดเห็น ชาวอุตรดิตถ์-น่าน ร่วมเดินหน้าสร้างสะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์

วันนี้ (26 กรกฎาคม 2566) เวลา 13.00 น. ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอนาหมื่น อำเภอนาหมื่นจังหวัดน่าน นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการสำรวจและออกแบบสะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ – อ.นาหมื่น จ.น่าน

เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาโดยเฉพาะสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม พร้อมรับฟังความคิดเห็น ประเด็นวิตกกังวล และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาของโครงการฯ จากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม การประชุมครั้งนี้ ได้นำเสนอผลการคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการรูปแบบการพัฒนาโครงการ ซึ่งได้พิจารณาแนวเส้นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ

รวมทั้งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ การคัดเลือกด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบว่า แนวเส้นทางเลือกที่เหมาะสม ได้แก่  แนวเส้นทางเลือกที่ 2 มีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.100+110 ของทางหลวงหมายเลข 1339 ผ่านพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ลำน้ำน่าน

ข้ามเวิ้งของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ด้วยโครงสร้างสะพานยาว 280 ม. ต่อเนื่องด้วยคันทางในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านอีก 140 เมตร ก่อนที่จะข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิต์ด้วยโครงสร้างสะพานยาว 1,150 ม. แนวของโครงสร้างสะพานด้านฝั่งทิศเหนือจะอยู่ทางด้านซ้ายของทางหลวงหมายเลข 1026

เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อชุมชนประมง
บ้านปากนาย จากนั้นเข้าบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1026 ที่ กม.74+670 และซ้อนทับกับแนวของทางหลวงหมายเลข 1026 รวมระยะทาง 2,390 ม. ซึ่งแนวเส้นทางโครงการมีระยะทางสั้น ความลาดชันน้อย มีค่าก่อสร้างต่ำที่สุด มีจำนวนต่อม่อในแหล่งน้ำน้อยกว่าแนวเส้นทางอื่น จึงทำให้มีความปลอดภัยในการขับขี่และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
สำหรับรูปแบบการก่อสร้างถนนระดับดินออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร (ไป–กลับ) กว้างช่องละ
3.50 ม. ไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.50 ม. ไหล่ทางด้านขวากว้าง 2.50 ม. สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในบริเวณเนินเขาและภูเขาสูง อาจจำเป็นต้องก่อสร้างคันทาง และต้องมีงานตัดลึก หรือ
งานถมสูง ส่วนรูปแบบสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จะมี 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) กว้างช่องละ 3.50 ม.

ไหล่ทางด้านในและไหล่นอก กว้าง 2.75 ม. มีทางเท้าขนาบทั้งสองข้าง กว้าง 2.55 ม. และในอนาคตสามารถขยายสะพานออกแบบ 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) โดยปรับขนาดช่องจราจรกว้างช่องละ 3.25 ม. ไหล่ทางด้านในกว้าง 0.50 ม. เกาะกลางแบบราวกั้นหรือกำแพง กว้าง 0.60 ม. มีทางเท้าขนาบทั้งสองข้างกว้าง 1.50 ม.
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์ พร้อมทั้ง

จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไป
สู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยผู้สนใจสามารถติดตาม
ความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ เว็บไซต์ www.สะพานข้ามเขื่อนสิริกิติ์.com และไลน์แอด @290CEZDF (มี@นำ)