เมื่อวันที่ 29-30 มีนาคม 2566
คณะจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดย นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย ดวงใจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมคณะฯ
ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามโครงการ การเพาะเลี้ยงปลาสวยงามธรรมชาติในบ่อดินปั้นสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่จังหวัดน่าน กลุ่มเรื่อง การเพิ่มมูลค่าปลาสวยงามเชิงเศรษฐกิจ กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เริ่มจากวันที่ 29 มีนาคม 2566 ทางคณะฯ ได้ลงพื้นที่เข้าเยี่ยมชมแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาปีกแดง ของชุมชนบ้านสบยาว (ห้วยน้ำยาว) บ้านหาดผาขน (แม่น้ำน่าน) ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
และในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ได้ลงพื้นที่แหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาปีกแดง ของชุมชนบ้านผาสุก บ้านสบมาง และบ้านห้วยล้อม (ลำน้ำมางและลำน้ำว้า) ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งปลาปีกแดง เป็นปลาอีกชนิดที่มีพฤติกรรมการผสมพันธุ์วางไข่ตามโขดหิน หรือหาดหินลำน้ำมางและลำน้ำว้า รวมทั้งลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำน่าน โดยปลามีความโดดเด่นคือจะพากันว่ายน้ำมาเป็นฝูงนับร้อยนับพันตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติในแหล่งน้ำ ซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่พบยาก
โดยปรากฏการณ์นี้ใน 1 ปี จะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม จากนั้นได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยหาด และบ้านหลักลาย ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด นิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 18 กลุ่มคนรักป่าต้นน้ำ และตัวแทนเครือข่ายสื่อมวลชนจังหวัดน่าน ได้เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการทำประมงภูเขา โดยมีการนำร่องส่งเสริมให้ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านเลี้ยงปลาปีกแดง ปลาพลวงหิน ปลาเวียน ตะพาบน้ำพื้นบ้าน (ปลาผา) ปูผา ปลาจาด และหมูด
จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาพลวงหิน ในพื้นที่น้ำตกตาดหลวง ตำบลทุ่งเฮ้า ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก นายจิระพงษ์ คูหากาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นอกจากนี้ ชุมชนต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นยังเป็นชุมชนที่ได้เรียนรู้และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9
มาประยุกต์ใช้เป็นหลักคิดเป็นหลักปฏิบัติในการขับเคลื่อนการพัฒนาผ่านกระบวนการระเบิดจากข้างใน เพื่อร่วมกันแก้ไขแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยการดำเนินงานเริ่มจากกลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้าน มีความเห็นร่วมกันผ่านการเรียนรู้ จนกระทั่งเกิดผลสำเร็จได้ มีความเชื่อมั่นและได้ขยายผลด้วยความรอบคอบ มีการประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะช่วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดน่าน
ทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไปในอนาคต ที่จะให้คนทุกวัยได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การเพิ่มโอกาสใหม่ด้านการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ระดับพื้นที่ในบริบทของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศริมน้ำ การรองรับสังคมผู้สูงวัย ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต การเพิ่มโอกาสใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทยในระดับฐานราก ภายใต้ขีดความสามารถของเกษตรรุ่นใหม่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชาชนในประเทศ ต่อใปในอนาคต