โครงการพัฒนาคลังคัมภีร์ใบลานดิจิทัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

โครงการพัฒนาคลังคัมภีร์ใบลานดิจิทัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Social Innovation Hub – CU SiHub) นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วชิราภรณ์ คลังธนบูรณ์ อาจารย์ ดร. จนัธ เที่ยงสุรินทร์ อาจารย์ ดร. ชนิตา ดวงยิหวา และคุณณัฐ วัชรคิรินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การอนุรักษ์เอกสารโบราณ เทคโนโลยีการถ่ายภาพ 360 องศา และการทำแผนที่ออนไลน์” ระหว่างวันที่ 15 – 16 มีนาคม 2566 ณ โรงเรียนสตรีศรีน่าน โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายหน่วยงานทางวัฒนธรรมในจังหวัดน่านเป็นเจ้าภาพร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดน่าน โรงเรียนสตรีศรีน่าน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน สภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) รวมทั้งทีมม้าแก่ นำโดย อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม

โครงการนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากทั้งนักเรียนจากโรงเรียนสตรีศรีน่าน นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน และพระสงฆ์ในจังหวัดน่าน รวมทั้งสิ้น 119 คน การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายความสนใจในการอนุรักษ์เอกสารโบราณและการทำสำเนาดิจิทัล และเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ด้านอักษรธรรมล้านนา การจารใบลาน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีภูมิศาสตร์และการถ่ายภาพ 360 องศาเข้ามาสนับสนุนการสร้างคลังเอกสารโบราณดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่บันทึกไว้ในเอกสารโบราณให้ได้รับการเผยแพร่ต่อไป


ผู้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการหลายคนเห็นว่าการอบรมนี้ได้สร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญและคุณค่าของเอกสารโบราณที่เป็นหลักฐานการบันทึกเรื่องราวในอดีต วิถีชีวิตความเชื่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำนานนิยายธรรม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเอกสารโบราณที่ปรากฏอยู่ในจังหวัดน่านนั้นเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความเจริญทางอารยธรรมของอาณาจักรล้านนา

อีกทั้ง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่งอยากจะเรียนรู้อักษรธรรมล้านนาเพิ่มเติมเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ และมีความคิดว่าจะนำตัวอักษรธรรมล้านนาไปใช้ประโยชน์เชิงประจักษ์ เช่น การเขียนป้ายต่าง ๆ ในจังหวัด เป็นต้น นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังกล่าวว่ากิจกรรมนี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ที่มาที่ไปของพื้นที่จากการศึกษาอักษรธรรมล้านนาอันนำไปสู่การสำนึกรักบ้านเกิดอีกด้วย