ข่าวประชาสัมพันธ์ บริษัทไฟฟ้าหงสา จำกัด ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2566

ไฟฟ้าหงสา สนับสนุนลูกปลา จำนวน 55,000 ตัว เพื่อปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ในงานวันปล่อยปลา วันอนุรักษ์สัตว์น้ำ สัตว์ป่า แห่งชาติ ประจำปี 2023 ที่เมืองหงสา, เมืองเงิน และเมืองเชียงฮ่อน

ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ได้มีการจัดงาน “วันปล่อยปลา วันอนุรักษ์สัตว์น้ำ สัตว์ป่า แห่งชาติ ประจำปี 2023” ขึ้น ที่เมืองหงสา, เมืองเงิน และเมืองเชียงฮ่อน มีคณะผู้บริหาร และพนักงานของ บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด เป็นตัวแทนเข้าร่วมงานในแต่ละเมือง ได้แก่ เมืองหงสา งานจัดที่ เขื่อนน้ำแก่น บ้านสีมุงคุน เมืองหงสา ให้เกียรติเข้าร่วมงานโดย นายคทายุทธ์ ชูพูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด

เมืองเงิน งานจัดที่ บ้านทอง ให้เกียรติเข้าร่วมงานโดย นายยุทธนา จุฬพันธ์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร และ เมืองเชียงฮ่อน งานจัดที่ บ้านใหม่หนองซาง ให้เกียรติเข้าร่วมงานโดย ท่านคมเพ็ด แก้วพิลา ผู้จัดการส่วนงานชุมชนสัมพันธ์ แผนกประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดงาน, จำนวนลูกปลา และเข้าร่วมงานกับทั้ง 3 เมือง เป็นประจำทุกปี โดยในปี 2023 นี้

บริษัทฯ ได้ให้การสนับสนุนลูกปลา จำนวนทั้งสิ้น 55,000 ตัว รวมเป็นเงิน 55,000 บาท แบ่งเป็น เมืองหงสา 25,000 ตัว, เมืองเงิน 15,000 ตัว และเมืองเชียงฮ่อน 15,000 ตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ, รักษาความสมดุลให้กับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตลอดถึง การคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ให้คงอยู่คู่กับชุมชนต่อไป

🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️

ข่าวที่ 2
“ไฟฟ้าหงสา ร่วมใจปลูกต้นไม้ 1,000 ต้น ในกิจกรรม HPC’s Planting Day 2023 ณ บริเวณพื้นที่ทิ้งดิน (Main dump)”

ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ฝ่ายความปลอดภัย สุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม และคุณภาพ ร่วมกับ ฝ่ายปฏิบัติการเหมือง บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด จัดกิจกรรม HPC’s Planting Day 2023 ขึ้น ณ บริเวณที่ทิ้งดิน (Main dump) โดยได้รับเกียรติจาก นายคทายุทธ์ ชูพูล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด

เข้าร่วมเป็นประธานในการกล่าวเปิดงาน มีคณะผู้บริหาร และพนักงานบริษัทไฟฟ้าหงสา จำกัด, พนักงาน O&M และผู้รับเหมาภายในโครงการไฟฟ้าหงสา เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกว่า 200 ท่าน ในปี 2566 นี้ ต้นไม้ที่นำมาปลูกมี 10 ชนิด ประกอบด้วยต้นคูน, จามจุรี, กระถินเทพา, ตะแบก, ประดู่, มะกอก, มะค่าโมง, มะฮ๊อกกานี, ยมหิน, และหว้า รวมเป็นจำนวน 1,000 ต้น

โดยกิจกรรม HPC’s Planting Day จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา โดยมีพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูตั้งแต่ปี 2012 ถึงปัจจุบันเป็นจำนวน 248 เฮกตาร์ ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 660,000 ต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ส่งเสริมให้พนักงานและผู้รับเหมาในเขตโครงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา

ให้เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตามมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับสากล ISO 14001: 2015

🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️

ข่าวที่ 3
ไฟฟ้าหงสา เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อม การประเมินป่าชุมชนตามโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” (กล้ายิ้ม) ประจำปี 2566 ณ หอประชุมบ้านห้วยหาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566
บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด โดยนายสรรเพชญ์ ปุละ หัวหน้าสำนักงานน่าน ได้เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อม การประเมินป่าชุมชนตามโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” (กล้ายิ้ม) ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดย กรมป่าไม้ ณ หอประชุมบ้านห้วยหาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยบ้านห้วยหาด หมู่ที่ 8 ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน ที่เป็นตัวแทนของภาคเหนือ เข้าร่วมรับการประเมินในปีนี้

ซึ่งบ้านห้วยหาด เป็นหมู่บ้านเป้าหมาย ที่ทาง บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน กลุ่มรักป่าต้นน้ำ และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการ ชีววิถี เศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ จนบ้านห้วยหาด

ได้เป็นตัวแทนของจังหวัดน่าน เข้ารับการประเมินในภาคเหนือ จนได้รับรางวัลในโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” (กล้ายิ้ม) ประจำปี 2566 ระดับภาคเหนือ และได้เป็นตัวแทนของภาคเหนือ เข้ารับการประเมินป่าชุมชนตามโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” (กล้ายิ้ม) ประจำปี 2566 เพื่อชิงรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ต่อไป โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อม ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

คือ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าชุมชน ตลอดจนเพื่อคัดเลือกป่าชุมชนที่มีแผนงาน ระบบและกระบวนการในการอนุรักษ์และพัฒนาป่าอย่างเข้มแข็ง โดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน สามารถเป็นชุมชนตัวอย่างและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนอื่นได้ ก่อนที่จะมีการประเมิน เพื่อชิงรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ในเดือนสิงหาคม 2566 นี้