เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.เกชา คูหา รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน และบริษัทไฟฟ้าหงสา จำกัด นำโดยนายสรรเพชญ์ ปุละ หัวหน้าสำนักงานน่าน พร้อมด้วยฝ่ายสื่อสารองค์กรสำนักงานน่าน
ได้ลงพื้นที่ บ้านห้วยหาด และบ้านหลักลาย ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ได้เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการทำประมง โดยมีการนำร่องส่งเสริมให้ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน เลี้ยงปลานิล และเลี้ยงกบ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย ดวงใจ หัวหน้าสาขาสัตวศาสตร์และประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา น่าน เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับกลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้าน นอกจากนี้ บ้านห้วยหาด และบ้านหลักลาย ยังเป็นชุมชนที่ได้เรียนรู้และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9
มาประยุกต์ใช้เป็นหลักคิด เป็นหลักปฏิบัติในการขับเคลื่อนการพัฒนาผ่านกระบวนการระเบิดจากข้างในเพื่อร่วมกันแก้ไขแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยการดำเนินงานเริ่มจากกลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้าน มีความเห็นร่วมกันผ่านการเรียนรู้ จนกระทั่งเกิดผลสำเร็จได้ มีความเชื่อมั่นและได้ขยายผลด้วยความรอบคอบ มีการประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 2 หมู่บ้าน มีการทำอาชีพ คือ
การเลี้ยงสัตว์ การทำประมง การทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชปลอดสารพิษ การแปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าในการจำหน่าย มีความมั่นคงทางด้านอาหารในชุมชน และมีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในบริบทปลาสวยงามธรรมชาติในชุมชน สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมความงามของธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้ง ดิน ป่า น้ำ นอกจากนี้ บ้านห้วยหาด และบ้านหลักลาย ยังมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ และโฮมสเตย์ ไว้บริการ
ให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย การลงพื้นที่ของบริษัทไฟฟ้าหงสา จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเติมเต็มองค์ความรู้ ให้กับกลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน เพื่อเป็นการยกระดับชุมชนให้มีความแข้มแข็งและเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนได้ จากการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกและภาคีเครือข่าย