พลเรือเอกพิเชฐ ตานะเศรษฐ หัวหน้าคณะทำงานกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยนางสาวปภัสมน อัมราลิขิต ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 16 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขต 16 ติดตามการทำงานของหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดน่าน
โดยกล่าวว่าท่านนายกรัฐมนตรี ห่วงใย เน้นย้ำให้เดินทางมาติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้ง หมอกควัน และไฟป่า โดยได้เดินทางไปที่อำเภอบ่อเกลือ อำเภอนาน้อยและอำเภอนาหมื่น พบว่า ทุกภาคส่วน บูรณาการแก้ปัญหาให้ประชาชนเป็นอย่างดี วันนี้ขอชื่นชมจังหวัดน่านในการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ดังจะเห็นได้จากภาคประชาชนที่มาร่วมประชุมด้วย ได้กล่าวชมเชยและขอบคุณไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในการลงมาแก้ไขปัญหาและติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจนทำให้สถานการณ์หมอกควันและจุดฮอตสปอตในจังหวัดน่านลดลง ซึ่งยังคงเหลืออีกเดือนเดียวเท่านั้นที่จะมีปัญหาหมอกควันและคาดว่าจังหวัดน่านจะสามารถแก้ปัญหาและป้องกันหมอกควันได้อย่างลุล่วง ส่วนเรื่องสถานการณ์น้ำ มีการวางแผนแก้ปัญหาภัยแล้งบริหารจัดการได้ทุกภาคส่วน อย่างเป็นรูปธรรม
ปีงบประมาณ 2563 จังหวัดน่าน ได้รับงบประมาณที่จัดสรรจากรองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตรวงษ์สุวรรณ 2 รอบ 14 โครงการเป็นเงินกว่า 15 ล้านบาทขณะนี้ทุกโครงการทำเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่งผลให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ป้องกันอุทกภัย แก้ปัญหาภัยแล้ง และเสริมศักยภาพกักเก็บน้ำ
ปี 2564 จังหวัดน่านขอรับงบ ประมาณ 28 โครงการเป็นเงินกว่า 12 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการขุดสระ สร้างฝาย พัฒนาแหล่งน้ำ ในภาพรวมจะทำให้พื้นที่ การเกษตรได้รับประโยชน์กว่าหมื่นไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์มากที่สุด ในฤดูแล้ง แก้ปัญหาภัยแล้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภค บริโภคกว่าหมื่นคน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น
สำหรับการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จังหวัดน่านโดยผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเป็นผู้บัญชาการ ระดับจังหวัด และมีนายอำเภอเป็นผู้บัญชาการระดับอำเภอ ท้องถิ่นมีนายกองค์การบริหารส่วนตําบล นายกเทศมนตรี กำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นหัวหน้าชุด แบ่งการดำเนินงาน 3 ระยะ มีศูนย์บัญชาการทั้งหมด 7 ชุด จังหวัดน่านตั้งเป้าลดจุด Hotspot ลงร้อยละ 30 หรือจะต้องมีไม่เกิน 5,266 จุด ขณะนี้ อยู่ในช่วงระหว่างการห้ามเผา โดยตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงมีนาคม มีจุด Hotspot เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดน่าน กว่า 700 จุด ซึ่งคาดว่า ระยะเวลาจนสิ้นสุดโครงการ 30 เมษายน 2564 จังหวัดน่านจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
ขณะที่นายนิพนธ์ ฟูศรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานน่านที่ 1 กล่าวว่า จังหวัดน่านได้ดำเนิน มาตรการป้องกันปัญหาภัยแล้งตามมติ ครม. 7 ข้อ คือ เร่งเก็บกักน้ำก่อนหมดฝน จากข้อมูลจังหวัดน่านมีน้ำต้นทุนในเขตชลประทาน 41 ล้าน ลบม. และนอกเขต ชลประทาน 412 ล้าน ลบม. ซึ่งน้ำจะต้องจัดสรรสำหรับอุปโภคบริโภค นิเวศน์ เกษตร และอุตสาหกรรม การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ใช้แม่น้ำน่านผลิตน้ำอุปโภคบริโภค และอ่างเก็บน้ำแหง สำหรับให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอนาน้อย ส่วนปฏิบัติการเติมน้ำในอ่าง เป็นภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปีนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ ได้กำหนดการจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง 16 ล้าน ลบม. จัดสรรแล้ว 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีแผนจัดสรรน้ำ119 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้จัดสรรไปแล้ว 90 ล้านลูกบาศก์เมตร ปีนี้ยังไม่มีปัญหาการขาดน้ำแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ซึ่งจังหวัดน่านไม่มีอุตสาหกรรมหนักจึงไม่มีปัญหา ทั้งนี้ได้สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ เกษตรกรได้รับทราบ และใช้ น้ำอย่างประหยัด
ผู้ตรวจราชการกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้เตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้ง ฝากให้นายอำเภอเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีการประกาศเขตภัยแล้ง ต้องใช้วิธีบูรณาการ แก้ปัญหา
ด้านนางสาวปภัสมน อัมราลิขิต ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 16 ได้เน้นย้ำให้นายอำเภอรวบรวมทำแผนที่น้ำ วางแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัย กล่าวว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยในบางเรื่องที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ก็สามารถใช้เงินจากกองทุนนี้ได้
โดยพลเรือเอกพิเชฐ ตานะเศรษฐ ได้ฝากไปถึงบทบาทอนุกรรมการน้ำจังหวัดซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการน้ำโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ขอให้ศึกษาข้อมูล และ สมัครเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการน้ำระดับจังหวัดด้วย
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน กองบรรณาธิการ นสพ.น่านนิวส์