นอภ.เวียงสานำทีมปลูกป่า “วนเกษตร” 607 ไร่ เอกชน-ท้องถิ่นหนุนสร้างป่าสร้างรายได้ให้ชุมชนต้นน้ำ กว่า 162 ครัวเรือน ใช้ประปาภูเขา ก่อนดีเดย์คลายล็อคด่านห้วยน้ำอุ่น เลิกคัดกรองโควิด-ต้อนรับนักท่องเที่ยวฉลุย แต่ยังรักษาความปลอดภัย ตรวจเข้มยาเสพติด อาชญากรรม
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.63 นายเกรียงไกร เวชอนุรักษ์ นายอำเภอเวียงสา จ.น่าน เป็นประธานเปิดโครงการสร้างป่าสร้างรายได้และฟื้นฟูป่าขุนน้ำห้วยต๋าลวง ที่บริเวณพื้นที่ป่าขุนน้ำห้วยต๋าลวง บ้านฮากฮาน ต.ยาบหัวนา อ.เวียงสา จ.น่าน เนื้อที่ 607 ไร่ เป็นพื้นที่คทช. หรืออนุญาตให้ประชาชนทำกินในพื้นที่ของรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนสร้างรายได้จากป่าวนเกษตร แก่ชาวบ้านจำนวน 11 ครอบครัว และชุมชน 162 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 608 คน มีน้ำอุปโภคและบริโภคจากระบบประปาภูเขา สนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกชนทั่วไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง เป็นวนเกษตรที่แบ่งพื้นที่ปลูกโดยไม่ต้องปลูก 220 ไร่ ปลูกป่าอนุรักษ์ 150 ไร่ด้วยต้นประดู่ พยุง ยางนา แดง เต็ง รัง มะค่า ปลูกป่าริมลำธาร 20 ไร่ด้วยต้นงิ้วแดง ไผ่ ชาเมี้ยง มะกอกป่ากล้วย ต๋าว หวาย ปลูกป่าเปียก 27 ไร่ด้วยต้นกล้วยป่า กล้วยน้ำว้างิ้วแดง ต๋าว และปลูกป่าเศรษฐกิจ 190 ไร่ด้วยต้นมะม่วงหิมพานต์ มะแข่น ประดู่ งิ้วแดง กระถินเทพา รวมปลูกป่าต่างๆ 20,000 ต้น โดยระหว่างที่นายอำเภอเวียงสากล่าวในพิธีเปิดงาน ได้ฝากชาวน่านโดยเฉพาะเวียงสา ยังขอความร่วมมือเคร่งครัดทางสาธารณสุข ตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ นายขจร ปันวงศ์ ผู้จัดการหจก.แคชชิวนัท ริช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า เดิมตนเป็นคนน่าน มองเห็นชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตร ปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือข้าวโพด 100 กว่าไร่และมีหนี้สินตลอดมา มีโอกาสได้ไปต่างประเทศ ตั้งบริษัทเกี่ยวกับปลูกมะม่วงหิมพานต์นี้ขึ้น และสามารถตอบโจทย์ที่จ.น่านได้ ทนแล้ง ผลตอบแทนรายได้สูง ไม่ต้องการสารเคมี ไม่ต้องดูแลมากและเป็นระบบวนเกษตร จึงได้เรียกหลายบริษัทเข้ามาร่วมมือกัน เป็นบริษัทของคนยุคใหม่ 4.0
“ช่วยชาวบ้านสร้างรายได้รายวัน รายเดือน รายปี ไม่ต้องวนเวียนอยู่กับพืชเชิงเดี่ยว จะได้ผืนป่ากลับคืนมาและแม่น้ำที่ใสสะอาด เพราะแม่น้ำน่านเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศ ประมาณ 50%” นายขจรกล่าว และตอบคำถามเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้หรือไม่ว่า ได้เรียนรู้มาจากนายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน อดีตหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีด เพราะหากส่งเสริมปลูกแต่มะม่วงหิมพานต์ก็จะกลายเป็นเชิงเดี่ยว จึงปรับมาใช้กับระบบวนเกษตร
นายเกรียงไกร นายอำเภอเวียงสา กล่าวว่า ถือเป็นโครงการนวัตกรรมใหม่ พัฒนาจากพืชเชิงเดี่ยวให้เป็นนวเกษตร โดยร่วมมือกันของหลายภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน ด้วยความตั้งใจจะดำเนินโครงการนี้ให้เกิดผลสำเร็จตั้งแต่การสละพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งเดิมปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาทิข้าวโพด มาสร้างป่าสร้างรายได้พร้อมกับอนุรักษ์ต้นน้ำ ส่วนกรณีด่านห้วยน้ำอุ่นสำหรับคัดกรองการเข้าออก จ.น่าน ตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะผ่อนคลายหยุดปิดด่านและคัดกรองทางสาธารณสุข วันที่ 22 มิถุนายน 2563 เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทาง พัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดรายได้กับประชาชนต่อไป
“แต่อำเภอเวียงสาก็ยังรักษาระดับ ดูแลด้านความปลอดภัยต่างๆ เช่นอาชญากรรม ยาเสพติด ต่อเนื่องไปอีกจนถึงปลายเดือน ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มาช่วยปฏิบัติหน้าที่ที่ด่าน อย่างไรก็ตาม ขอฝากชาวน่านดูแลรักษาตนเองให้พ้นจากภัยยาเสพติด โดยปฏิบัติวัฒนธรรมใหม่หรือนิวนอร์มอล การต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากผ่อนคลายภาวะโควิด ประการที่สาม ช่วยกันดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรคในพื้นที่ของเรา ตลอดจนเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองต่อไป” นายอำเภอเวียงสากล่าว
คุณณรงค์ พุฒพวกดี ภาพ/ข่าว