กรมทางหลวง มีหนังสือเรียก “แพร่ธำรงวิทย์” ทำสัญญาก่อสร้างทางหลวง 101 สาย อ.ร้องกวาง- น่าน ตอนบ้านห้วยเก๊ต-บ้านห้วยน้ำอุ่น ระยะทาง 16.150 กม.เป็น 4 เลน มูลค่า 1,098 ล้านบาท เตรียมเดินเครื่องลงมือปลายเดือนกันยายนนี้ “เสี่ยหน่อง” ย้ำ เน้นความสะดวก ปลอดภัย แก่ผู้สัญจร ทางหลวงกำหนดใช้เวลา 1,080 วัน แต่เนื่องจากเป็นผู้รับเหมาในพื้นที่ วัสดุ เครื่องจักรพร้อม คาดใช้เวลาแค่ 700 วัน เตือนเดินทางช่วงเส้นทางดังกล่าว ด้วยความระมัดระวัง
ผู้สื่อข่าว รายงานกรณี บริษัทแพร่ธำรงวิทย์ จำกัด เตรียมทำสัญญากับกรมทางหลวง เพื่อก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 101 สาย อ.ร้องกวาง- ตอนบ้านห้วยแก๊ต – บ้านห้วยน้ำอุ่น ระยะทางยาวประมาณ 16.150 กม. โดยมีข้อมูลเบื้องต้น กำหนดเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร ก่อสร้างขยายจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ไปกลับข้างละ 2ช่องจราจร โดยผิวทางเป็นแอลฟัลติกคอนกรีต 2 ชั้น หนาชั้นละ 5 ซม. ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางชนิดเดียวกับผิวด้านนอกกว้างข้างละ 2.5 เมตร มีเกาะกลางกว้าง 4.2 เมตร และ เกาะกลางแบบ คอนกรีตแบริเออร์ กว้าง 1.61 เมตร นอกจากนี้ ยังมีงานก่อสร้างบริเวณด่านห้วยน้ำอุ่น ผิวทางเป็นคอนกรีต หนา 28 ซม. ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางชนิดเดียวกับผิวทาง ด้านนอกกว้างข้างละ 2.5 เมตร รวมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและไฟกระพริบบนทางหลวง โดยเส้นทางที่ก่อสร้าง อยู่ในเขต อ.เวียงสา จ.น่าน และ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน โดยมีมูลค่าการก่อสร้าง 1,098 ล้านบาท
นายวรศักดิ์ วงศ์วรกุล ประธานกรรมการบริษัทแพร่ธำรงวิทย์ กล่าวว่า ตอนนี้ถนนสี่เลน แพร่-น่าน ระยะทางประมาณ 120 กม. แต่ก่อสร้างไปแล้ว 104 กม. ขณะนี้ยังเหลือ ถนนที่ไม่ใช่ 4 เลน ก็คือช่วงห้วยน้ำอุ่น ไปบ้านห้วยแก๊ต อีกประมาณ 16.150 กม. ซึ่งเรียกว่า แพร่-น่าน ตอนสุดท้าย ขณะนี้ผ่านการประกวดราคา ผ่านทุกกระบวนการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกรมทางหลวงได้เรียกบริษัทแพร่ธำรงวิทย์ เซ็นต์สัญญาก่อสร้าง ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องแพร่-น่าน ได้รับทราบ และขอแจ้งว่าหลังจากเซ็นต์สัญญาในเดือนสิงหาคมแล้ว จะมีการเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนกันยายน นี้เลย บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะเข้าดำเนินการก่อสร้างทันที
“โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ ของถนนแพร่-น่าน ทุกๆ ตอน กำหนดระยะเวลาการก่อสร้างไว้ 1,080 วัน ครอบคลุมพื้นที่แพร่และน่านอย่างละครึ่ง แต่ด้วยประสบการณ์ ความพร้อม ทั้งเรื่องเครื่องจักร วัสดุต่างๆ เราคาดว่า จะใช้เวลาเพียง 700 วัน หรือ 2 ปี โดย จุดที่มีความสำคัญที่สุด ก็คือ เขาครึ่ง จะมีการออกแบบเป็นพิเศษ มีการลดความลาดชันลงไปบ้าง โดยก่อสร้างเป็น 5 ช่องจราจร คือ ตอนขึ้นเขา 3 ช่อง รถช้าขึ้นเขาสามารถชิดซ้ายได้ โดยเราคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี จะเร็วกว่าสัญญา อีกอย่าง ด่านห้วยน้ำอุ่น จะมีการปรับภูมิทัศน์ใหม่ เนื่องจากเป็นจุดสกัดสำคัญของแพร่-น่าน เราจะรื้อถนนลาดยางออกทั้งหมด ทำเป็นถนนคอนกรีต โดยมีพื้นที่สำหรับการใช้งานได้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย และในช่วงถนนที่มีชุมชน เช่น บ้านห้วยน้ำอุ่น บ้านปางมอญ บ้านห้วยโรง เราจะจัดให้มีไฟฟ้าแสงสว่างด้วย”
“หลังการก่อสร้าง ถนนแพร่-น่าน จะเป็นถนนเชื่อมจังหวัดที่ดีที่สุด โดยมีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายมากที่สุด ทั้งเรื่องป้ายจราจร มาตรฐานไฟฟ้า ในระหว่างการก่อสร้าง เราจะมีการติดป้ายเตือน ไฟส่องสว่าง ตามเส้นทางก่อสร้างให้ได้มาตรฐานที่สุดเพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจรไปมา ถนนสายนี้สะพานทุกตัวต้องสร้างใหม่ เป็นสะพานแฝดจำนวน 6 ตัว ซึ่งเราจะทำให้ดีที่สุด เพราะบริษัทแพร่ธำรงวิทย์ เป็นบริษัทท้องถิ่น ที่เป็นทั้งคนแพร่ และคนน่าน ผมก็ใช้เส้นทางนี้เดินทางกลับบ้าน”
“การทำงานใหญ่ก็ต้องถูกตำหนิเป็นธรรมดา แต่จะทำให้ดีที่สุดเพื่อลดข้อขัดแย้ง ความไม่สะดวก ให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ สงกรานต์ ปีใหม่ ที่ผู้คนสัญจรมากๆ เราต้องหยุดงาน เช่น ก่อน 7 วันอันตรายและหลัง 7 วันอันตราย และจัดการเรื่องเครื่องจักรกล กองวัสดุต่างๆ ไม่ให้กองบนไหล่ทางเลย ซึ่งกรมทางหลวงกำชับไว้อย่างเข้มงวด” นายวรศักดิ์ กล่าวในท้ายสุด
สมชาย จินาเกตุ ประธานสมาพันธ์สื่อสารมวลชนจังหวัดน่าน บก.นสพ.ถิ่นน่าน ภาพ-ข่าว/นสพ.น่านนิวส์ รายงาน