ที่ห้องประชุมเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ชั้น 2 พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อประชุมหารือเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้บริการเช่าที่พักระยะสั้น เพื่อการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่โรงแรม ร่วมกับนายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาธุรกิจการให้บริการเช่าที่พักระยะสั้น การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่โรงแรม การให้บริการเช่าที่พักแบบโฮมสเตย์ เพื่อนำไปแก้ไข ข้อระเบียบกฎหมายให้เหมาะสมกับรูปแบบการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวหลากหลายระดับ รวมไปถึงพัฒนาการให้บริการให้ได้มาตรฐาน ความสะดวก รวมถึงความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวสู่ชุมชนและกระจายรายได้สู่ประชาชนในท้องถิ่นให้มีรายได้เสริม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ก่อเกิดประโยชน์ส่วนรวมต่อประเทศ พร้อมกับลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพข้อเท็จจริง โฮมสเตย์ บ้านบ่อสวก อำเภอเมือง และบ้านศิลาเพชรโฮมสเตย์ อำเภอปัว เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาอีกด้วย
โดย พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่ามีการนำบ้านพัก มาให้เช่าในระยะสั้นไม่กี่วัน เพื่อสร้างรายได้ โดยผู้เช่าสามารถจองผ่านแอพพลิเคชันของผู้ให้บริการที่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของที่พักอาศัยและผู้เช่า เช่น Airbnb หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนในท้องที่ ไม่มีกฎหมายออกมารองรับการทำธุรกิจประเภทดังกล่าว อีกทั้งยังพบมีการร้องเรียน สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาด้านอาชญากรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ยาเสพติด และปัญหาการส่งเสียงดังก่อความรำคาญต่อผู้ที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่อยู่อาศัยกับผู้เข้าพักรายวันเรื่อยมา
สำหรับจังหวัดน่านนั้น ถึงแม้จะเมืองรอง แต่ก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนตลอดทั้งปี และพบว่ามีการบริการที่พักขนาดเล็ก โฮมสเตย์ และรูปแบบใหม่อย่างฟาร์มสเตย์จำนวนมาก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเชิงระบบให้กับชุมชนท่องเที่ยวจึงสำคัญและควรดำเนินการอย่างรอบคอบ ซึ่งจากการหารือและลงพื้นที่ พบทั้งปัญหา ข้อจำกัด
ความเหมาะสมในการจำกัดความที่พัก ตลอดจนความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานที่พักให้ถูกกฎหมาย ทั้งนี้เห็นว่าควรทำให้ผู้ประกอบการที่พักในพื้นที่ได้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องเสียก่อน แล้วผู้ประกอบการและภาครัฐ จึงร่วมกันพัฒนามาตรฐานควบคู่กันไป โดยอาจกำหนดว่าภายในระยะเวลา 2 ปี ต้องดำเนินการให้มีมาตรฐานครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเสนอต่อรัฐบาล อันนำไปสู่ข้อเสนอการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันต่อไป ส่วนกรณี Airbnb นั้นในจังหวัดน่านอาจยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนไทย อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเตรียมมาตรการป้องกัน เพื่อรับมือกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคตต่อไป
ปฏิญญา เรือนงาม จังหวัดน่าน