น่าน – สถาบันวิจัยสาธารณสุขนำทีมนักวิจัยฯ พบหน่วยงาน-แกนนำชุมชนเมืองน่าน ถกข้อมูลมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา สปป.ลาว เน้นผลกระทบ-สร้างเครื่องมือให้ชุมชนเฝ้าระวัง
นายแพทย์ นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดการประชุมพัฒนาข้อเสนอชุดโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน จังหวัดน่าน กรณีมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา สปป.ลาว ณ ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ผู้สนับสนุนทุนการวิจัย นำทีมนักวิจัยและนักวิชาการจากสำนักงานวิจัยและพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, CHIA Platform in Southeast Asia, คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะศิลปศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นำเสนอข้อมูลและประเด็นงานวิจัย ทั้งด้านตัวชี้วัดมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระทบต่อสุขภาพ และการสร้างเครื่องมือที่เหมาะสมและระบบข้อมูลสำหรับชุมชน เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ท่ามกลางผู้แทนภาคีเครือข่ายของจังหวัดน่าน ทั้งภาคส่วนราชการ ภาคประชาสังคม หน่วยงานด้านสาธารณสุข ผู้นำและแกนนำชุมชนในพื้นที่ ต.ห้วยโก๋น และ ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายแดนและใกล้กับโรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว เข้าร่วม
ทั้งนี้ ทีมคณะทำงานวิจัยได้ให้ข้อมูลจากการทำงานในพื้นที่บ้านน้ำรีพัฒนา ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขมาแล้วว่า มีการสำรวจและเก็บข้อมูลมลพิษทางอากาศเพื่อทำแผนที่ความเสี่ยงในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยพบว่าพื้นที่ ต.ขุนน่านมีหมู่บ้านน้ำรีพัฒนา หมู่ 12, บ้านง้อมเปา หมู่ 1 และบ้านด่าน หมู่ 3 ได้รับผลกระทบสูง ขณะที่บ้านกิ่วจันทร์ หมู่ 10 และบ้านน้ำช้าง หมู่ 11 ซึ่งอยู่ในตำบลเดียวกัน กลับได้รับผลกระทบต่ำจนถึงระดับปานกลาง ส่วน ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ กลับได้รับผลกระทบน้อยจนบางหมู่บ้านไม่ได้รับผลกระทบเลย
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีผลมาจากปัจจัยเรื่องทิศทางลมที่พัดมาจากโรงไฟฟ้าหงสา และแนวภูเขาที่ปิดกั้น ซึ่งทั้งข้อดีและข้อเสียคือปิดกั้นมลพิษทางอากาศ ทั้งกันไม่ให้เข้าในพื้นที่หมู่บ้าน แต่แนวภูเขาทำให้มีมลพิษไหลเข้าไปในบางพื้นที่ของหมู่บ้าน และกั้นไม่ให้มลพิษนั้นสลายออกไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนทั้ง 22 หมู่บ้าน พื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.ขุนน่าน ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ ก่อนที่จะมีการเดินเครื่องการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหงสา เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบในอนาคตถึงผลกระทบด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงด้วย หลังจากนี้จะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยเฉพาะผู้บริหารของบริษัทไฟฟ้าหงสา จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนางานวิจัย โดยใช้ข้อเท็จจริงบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ และเป็นฐานข้อมูลที่ยอมรับร่วมกันในการวางแผนการเฝ้าระวัง รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งจะมีทั้งการเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ และมลพิษที่ตกค้างในห่วงโซ่อาหาร ที่สำคัญคือการสร้างเครื่องมือที่เหมาะสมและระบบฐานข้อมูลโดยชุมชนต่อไป