ไผ่…เส้นทางสู่อุตสาหกรรมตลาดโลก แก้ปัญหาภูเขาหัวโล้น

 

จังหวัดน่านจับมือร่วมกับภาคีเครือข่ายเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาภูเขาหัวโล้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและดินสไลด์โคลนถล่มอย่างยั่งยืน ในเวทีเสวนา “ไผ่…เส้นทางสู่อุตสาหกรรมตลาดโลก”

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 สิงหาคม 2561 ที่โรงแรมดิเอ็มเพลส ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน จ.น่าน โดยนายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เปิดเผยถึงการจัดเสวนาในหัวข้อ “ไผ่…เส้นทางสู่อุตสาหกรรมตลาดโลก” โดยมีภาคีเครือข่ายจากทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ นักธุรกิจ ตลอดจนเกษตรกรผู้ปลูกไผ่ เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่จังหวัดน่าน และจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านไผ่ในและต่างประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสนอแนะมุมมอง และข้อคิดเห็นเรื่องไผ่ในเวทีนี้กว่า 700 ราย


การจัดสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความมั่นใจและสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้พี่น้องเกษตรกรได้ทราบถึงประโยชน์ของไม้ไผ่ และการผลิตไผ่แบบครบวงจร ตลอดจนเป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกไผ่ และผู้ประกอบการธุรกิจไผ่ เพื่อต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมไผ่สู่อนาคตที่ยั่งยืน รวมทั้งเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และส่งเสริมการปลูกไผ่ในจังหวัดน่าน เพื่อเป็นการผลักดันไผ่ให้เป็นไม้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมครบวงจรของประเทศไทย ตลอดจนเพื่อเพิ่มพื้นที่การปลูกไผ่เศรษฐกิจสร้างป่าแก้ปัญหาเขาหัวโล้นในจังหวัดน่าน และพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป โดยการเสวนาครั้งนี้คาดว่าจะเกิดผลลัพย์ที่ดีแก่เกษตรกรให้มีความมั่นใจในการผลิตไผ่แบบครบวงจร และเกิดการรวมกลุ่ม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไผ่ ตลอดจนได้แนวทางผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมไม้ไผ่ที่สามารถดำเนินการได้ถูกต้องตามกฎหมายและเข้ากับบริบทสภาพพื้นที่ของจังหวัดน่าน รวมทั้งให้เกิดการผลักดันไผ่เป็นพืชยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นในการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่จังหวัดน่าน สามารถสร้างความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยมีการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายไผ่จากในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่ต้นน้ำน่าน ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของระบบน้ำในประเทศไทยร้อยละ 45 ของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันจังหวัดน่านต้องเผชิญกับปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งป็นผลจากป่าต้นน้ำน่านถูกบุกรุกทำลายในอัตราสูงมากโดยเฉพาะในช่วงปี 2548-2552 พื้นที่ป่าไม้น่านถูกแผ้วถางเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว จาก 3 แสนไร่เป็น 9 แสนไร่ ภายในเวลาระยะเวลาเพียง 4 ปี จึงทำให้จังหวัดน่านกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน จากการเผาเตรียมพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ดินและน้ำยังปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี และทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและดินโคลนถล่มทุกปีเนื่องจากไม่มีต้นไม้ค่อยดูดซับน้ำ จังหวัดน่านมีพื้นที่ทั้งหมด 7,170,045 ไร่ หรือ 1,472.07 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ป่าไม้เหลือเพียง 3,437,500 ไร่หรือร้อยละ 47.94 จากเดิมที่มีมากถึงกว่าร้อยละ 70 ขณะที่พื้นที่ 2,813,980 ไร่ หรือร้อยละ 39.24 กลายเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ทำการเกษตรที่มีเพียง 876,043 ไร่ หรือร้อยละ 12.22 ทำให้ชาวน่านต้องซื้ออาหารจากภายนอกถึงปีละ 1,689 ล้านบาท ทำให้คนน่านมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ และมีหนี้สินสูงถึง127,524 บาทต่อครอบครัว จึงเป็นจังหวัดที่ยากจนสูงและ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่ำเป็น อันดับที่ 3 ของประเทศ และสัดส่วนคนจนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรในจังหวัดเป็นอันดับที่ 2 ของภาคเหนือ

ด้านนายธนกร รัชตานนท์ นายกสมาคมพัฒนาไผ่ไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจังหวัดน่านได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาเขาหัวโล้น ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด การส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร อีกทั้งการเลี้ยงสัตว์ การประมง การแปรรูป อุตสาหกรรมในครัวเรือน การท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งในรูปเกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ป่า เกิดอาชีพเกษตรที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ทรัพยากรดินและน้ำให้เกิดความคุ้มค่ามากขึ้น ลดการทำการเกษตรที่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง สินค้าพืชในยุทธศาสตร์จังหวัดน่าน ที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ป่า มีมากมายหลายชนิด ได้แก่ ชา กาแฟ ยางพารา ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพรและเครื่องเทศหลายชนิด และไม้ยืนต้นตัวหนึ่ง ที่มีการวิเคราะห์ศักยภาพว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพทั้งทางด้านการตลาด มีความเป็นไปได้ในการปลูกให้อยู่รอดในสภาพเขาหัวโล้นเป็นพืชนำ เพื่อสร้างพื้นที่ป่าให้แก่ชุมชนเกษตรกร ได้แก่ ไม้ไผ่ นับตั้งแต่การปลูกไผ่รวกในอดีต จนถึงการส่งเสริมให้ปลูกไม้ไผ่หลายชนิดในพื้นที่ของเกษตรกรในจังหวัดน่าน ปัจจุบันคาดว่ามีพื้นที่ปลูกไผ่ในจังหวัดน่าน ไม่น้อยกว่า 5,000 ไร่ ประกอบด้วยไผ่หลายชนิด ได้แก่ ไผ่รวก ไผ่ซางนวล ไผ่ซางหม่น ไผ่ตง ไผ่ฟ้าหม่น และไผ่อื่นๆ

นายธนกร ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าไม้ไผ่รวกจะเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัดน่าน เพื่อสนองความต้องการของอาชีพประมงชายฝั่ง ด้วยการนำไปเลี้ยงหอยแมลงภู่ได้เป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันสัดส่วนของการเพิ่มพื้นที่ของไผ่ลำใหญ่ กลับมีสัดส่วนของพื้นที่ปลูกมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้พี่น้องเกษตรกรได้ทราบถึงประโยชน์ของไม้ไผ่ ตลอดจนช่องทางการตลาดและลู่ทางการส่งเสริมการปลูกไผ่ เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเพื่อกระตุ้นให้เห็นศักยภาพของไม้ไผ่ให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นตลาดรองรับอาชีพการปลูกไผ่ของพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดน่านและจังหวัดใกล้เคียง ด้วยการจัดทำโครงการยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นจังหวัดน่าน
ที่ผ่านมาจะเห็นได้จากที่ทางสมาคมพัฒนาไผ่ไทยได้เข้าส่งเสริมให้เกษตรกรบ้านป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข ซึ่งเป็นที่ทำกินในลุ่มน้ำ 3-4-5 ได้ปลูกไผ่ทั้งหมด 260 ครอบครัวพื้นที่ 1,600 ไร่ โดยปลูกแซมในไร่ข้าวโพด คาดว่าในอนาคตจะทำให้เกษตรกรเหล่านี้ลดการปลูกข้าวโพดลงหรือเลิกปลูกไปในอนาคต เมื่อไผ่มีอายุ 2-4 ปี จะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งการขายหน่อ กิ่งพันธุ์ และขายลำไผ่ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพราะไผ่ยิ่งแก่ยิ่งเพิ่มปริมาณ และไผ่ยังช่วยยึดหน้าดิน ช่วยปรับปรุงดิน และรักษาน้ำ ทั้งนี้เห็นได้ว่าการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้จะส่งผลดี เป็นการรวมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเรื่องไผ่ และเกษตรกรผู้สนใจไผ่อันจะเป็นการสร้างความรู้ และความเข้าใจให้เกษตรกรทราบถึงประโยชน์ของไม้ไผ่ ตลอดจนเห็นช่องทางการตลาดและลู่ทางการส่งเสริมการปลูกไผ่โดยนำไปพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีไผ่เกี่ยวข้องหลายอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันทางรัฐบาลได้มีนโยบายให้ไผ่เป็นไม้ 1 ใน 58 ชนิดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลควรเปิดโอกาสส่งเสริมการปลูกไผ่และให้ผู้ปลูกไผ่สามารถตัดไผ่ได้ในพื้นที่ทำกินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากที่ผ่านมาปลูกแล้วไม่สามารถตัดได้ ทั้งที่ไผ่ไม่เหมือนพืชยืนต้นชนิดอื่น และเป็นพืชหมุนเวียนที่ตัดแล้วไม่หายไปไหนแต่ยังแตกต้นเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอวอนครม.เร่งผลักดันพิจารณาเห็นชอบให้ไผ่ตัดได้ในที่ทำกินที่ยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์ใดๆ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

**************
ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น จ.น่าน โทร.084-80848