ไฟฟ้าหงสา มอบเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในเขตเมืองเชียงฮ่อน แขวงไชยะบูลี เป็นเงินจำนวน 20,000,000 กีบ และมอบทุนการศึกษา จำนวน 2 ทุน เป็นเงิน 6,000,000 กีบ
ในวันที่ 23 กันยายน 2565 บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด เข้าร่วมพิธีมอบ-รับ เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในเขตเมืองเชียงฮ่อน แขวงไชยะบูลี แห่ง สปป. ลาว เป็นเงินจำนวน จำนวน 20,000,000 กีบ (ประมาณ 47,000 บาท) โดยพิธีจัดขึ้น ณ ห้องว่าการเมืองเชียงฮ่อน ให้เกียรติเป็นผู้มอบเงินช่วยเหลือโดย นายคทายุทธ์ ชูพูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด และ ได้รับเกียรติจาก ท่าน กงทอง สิดทิไซ เจ้าเมือง เมืองเชียงฮ่อน เป็นผู้รับมอบเงินช่วยเหลือ
มีคณะตัวแทนของบริษัทฯ ฝ่ายสื่อสารองค์กร, คณะการนำเมืองเชียงฮ่อน และเจ้าหน้าที่จากห้องการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมกันนี้ ทางคณะกรรมการป้องกันภัยพิบัติเมืองเชียงฮ่อน ได้นำพาคณะไฟฟ้าหงสา การนำเมืองเชียงฮ่อน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบฝายกั้นน้ำค่อม ที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม ร่วมกัน
ในโอกาสนี้ นายคทายุทธ์ ชูพูล ได้กล่าวแสดงความห่วงใยต่อคณะการนำเมืองเชียงฮ่อน และประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา และร่วมให้กำลังใจกับทุกภาคส่วน ให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตการณ์จากภัยธรรมชาติด้วยดี ไปด้วยกัน และนอกจากนี้ บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ยังได้รับเกียรติ เข้าร่วมมอบทุนการศึกษาให้กับน้องๆ นักเรียนที่เรียนเก่ง และคุณสมบัติดี จากโรงเรียนมัธยมศึกษาสมบูรณ์มกสะตุ จำนวน 2 ทุนการศึกษา รวมเป็นเงิน 6,000,000 กีบ (ประมาณ 14,000 บาท) อีกด้วย
🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️
ข่าวที่ 2
ไฟฟ้าหงสา ร่วมกับ มทร.ล้านนา น่าน ภาคีเครือข่าย “รักป่าต้นน้ำ” จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การผลิตจุลินทรีย์น้ำเพื่อกิจกรรมการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามธรรมชาติ และพืชผักเศรษฐกิจ ในบริบทชีววิถี เศรษฐกิจพอเพียง ณ บ้านห้วยหาดและบ้านหลักลาย ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565
บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด นำโดย นายสรรเพชญ์ ปุละ หัวหน้าสำนักงานน่าน พร้อมด้วยฝ่ายสื่อสารองค์กรสำนักงานน่าน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย ดวงใจ หัวหน้าสาขาสัตวศาสตร์และประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน และภาคีเครือข่าย “รักป่าต้นน้ำ” นำโดย ผศ.(พิเศษ)ปรีชา วุฒิการณ์ (อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด) แกนนำกลุ่ม “รักป่าต้นน้ำ”
ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การผลิตจุลินทรีย์น้ำเพื่อกิจกรรมการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามธรรมชาติ และพืชผักเศรษฐกิจ ในบริบทชีววิถี เศรษฐกิจพอเพียง ณ บ้านห้วยหาดและบ้านหลักลาย ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน มีนางนัยนา ฑีฆาวงค์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยหาด และชาวบ้านห้วยหาดและบ้านหลักลาย ให้การต้อนรับคณะฯ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวมาณิชรา ทองน้อย ผู้ตรวจแปลงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) เป็นวิทยากรสอนการผลิตจุลินทรีย์น้ำ โดยชุมชนบ้านห้วยหาดและบ้านหลักลาย เป็นชุมชนที่ได้ดำเนินการทำโครงการชีววิถี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด
ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ได้ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรม “โครงการชีววิถี เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งในปีนี้ ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมการเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ปลา ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ในพื้นที่บ้านห้วยหาดและบ้านหลักลาย อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่จังหวัดน่าน สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาดูงาน ได้อีกทางหนึ่งด้วย
🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️
ข่าวที่ 3
ไฟฟ้าหงสา ร่วมพิธีเปิดงานประเพณีแข่งเรือเอกลักษณ์น่าน สานสัมพันธ์ น่านเหนือ น่านกลาง น่านใต้ จังหวัดน่าน ประจำปี 2565
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565
บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด นำโดยนายสรรเพชญ์ ปุละ หัวหน้าสำนักงานน่าน พร้อมด้วยฝ่ายสื่อสารองค์กรสำนักงานน่าน ร่วมพิธีเปิดงานประเพณีแข่งเรือเอกลักษณ์น่าน สานสัมพันธ์ น่านเหนือ น่านกลาง น่านใต้ จังหวัดน่าน ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 17 – 18 กันยายน 2565 ณ บริเวณแม่น้ำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ จัดขึ้นโดย สมาคมเรือแข่งจังหวัดน่าน ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน
ได้รับเกียรติจากนายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน โดยมีนายนายศราวุธ พุฒตรง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน เป็นผู้กล่าวรายงาน มีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาคเอกชน ผู้นำชุมชนในจังหวัดน่าน พี่น้องชาวเรือและประชาชนทั่วไปมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง โดยการจัดแข่งเรือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1)เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีของชุมชน หมู่บ้าน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการสืบสานประเพณี
พิธีกรรมท้องถิ่นที่เป็นทุนภูมิปัญญาเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้านและชุมชน เป็นการอนุรักษ์ รักษาและสืบทอด ประเพณีแช่งเรือที่มีมาอย่างยาวนานของจังหวัดน่าน ให้คงอยู่สืบไป 2)เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้หมู่บ้าน ชุมชนในเขตน่านเหนือ (อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอเชียงกลาง) น่านกลาง (อำเภอเมืองน่าน อำเภอภูเพียง) น่านใต้ (อำเภอเวียงสา) ที่มีเรือได้นำเรือมาร่วมแช่งขัน 3)เพื่อให้ประเพณีแข่งเรือเอกลักษณ์น่าน เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของจังหวัด ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดน่าน ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย สำหรับประเภทการแข่งขันแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1)ประเภทเรือใหญ่ ฝีพายตั้งแต่ 48 – 55 คน มีจำนวน 6 ลำ 2)ประเภทเรือกลาง ฝีพายตั้งแต่ 35 – 40 คน มีจำนวน 7 ลำ 3)ประเภทเรือเล็ก ฝีพายตั้งแต่ 25 – 30 คน มีจำนวน 11 ลำ 4)ประเภทเรือแบบโบราณ ฝีพายตั้งแต่ 25 – 35 คน มีจำนวน 4 ลำ 5)ประเภทเรือเอกลักษณ์น่าน ฝีพายตั้งแต่ 30 – 38 คน มีจำนวน 13 ลำ รวมมีเรือเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 41 ลำสำหรับงานประเพณีแข่งเรือเอกลักษณ์น่าน สานสัมพันธ์ น่านเหนือ น่านกลาง น่านใต้ จังหวัดน่าน ประจำปี 2565 บริษัทไฟฟ้าหงสา จำกัด ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานครั้งนี้ จำนวน 50,000 บาท
🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️
ข่าวที่ 4
ไฟฟ้าหงสา ร่วมพิธีเปิดงานประเพณีแข่งเรืออำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน “แข่งเรือปลอดเหล้า เข้าหาพระธรรม” ประจำปี 2565
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565
บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด โดยนายสราวุธ บุญพูล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรสำนักงานน่าน เข้าร่วมพิธีเปิดงานประเพณีแข่งเรืออำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน “แข่งเรือปลอดเหล้า เข้าหาพระธรรม” ประจำปี 2565 ในระหว่างวันที่ วันที่ 24 – 25 กันยายน 2565 ณ ท่าน้ำเชิงสะพานท่าวังผาพัฒนา (ท่าค้ำ) ตำบลริม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โดยงานประเพณีแข่งเรืออำเภอท่าวังผา ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดย อำเภอท่าวังผา ร่วมกับชมรมเรือแข่งอำเภอท่าวังผา สมาคมเรือแข่งจังหวัดน่าน สภาวัฒนธรรมอำเภอท่าวังผา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ได้รับเกียรติจากนายสุทัศน์ จินตเวชศาสตร์ นายอำเภอท่าวังผา เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน โดยมีนายสง่า อินยา ประธานคณะกรรมการชมรมเรือแข่งอำเภอท่าวังผา เป็นผู้กล่าวรายงาน มีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาคเอกชน ผู้นำชุมชนในจังหวัดน่าน พี่น้องชาวเรือและประชาชนทั่วไปมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง งานประเพณีแข่งเรืออำเภอท่าวังผา ได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการส่งเสริม สืบสาน อนุรักษ์ ศิลปวัฒธรรม และประเพณีอันดีงามของชาวอำเภอท่าวังผา และจังหวัดน่าน ให้คงอยู่สืบไป ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอท่าวังผา และจังหวัดน่าน รวมถึงเป็นการเสริมสร้างพลังความรักความสามัคคีในระดับหมู่บ้าน ทำให้ชุมชนเกิดความแข้มแข็ง และเพื่อให้เยาวชนมีโอกาสแสดงพลังที่สร้างสรรค์ ในด้านการกีฬาแข่งเรือและการพากย์เรือ เพื่อห่างไกลยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย
โดยในปีนี้ มีเรือที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทเรือเล็ก ฝีพาย 25-30 คน จำนวน 7 ลำ ประเภทเรือเล็กเอกลักษณ์น่าน ฝีพาย 25-30 คน จำนวน 11 ลำ และประเภทเรือกลางเอกลักษณ์น่าน ฝีพาย 35-40 คน จำนวน 15 ลำ รวมมีเรือเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด จำนวน 33 ลำ สำหรับงานประเพณีแข่งเรืออำเภอท่าวังผา “แข่งเรือปลอดเหล้า เข้าหาพระธรรม” ประจำปี 2565 บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานครั้งนี้ เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท